วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

“ศิริราชคอนเสิร์ต เทิดไท้องค์อัครศิลปิน”


     วันที่ 29 กันยายน 2553 เวลา 20.00 น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการแสดงงาน “ศิริราชคอนเสิร์ต เทิดไท้องค์อัครศิลปิน” โดยวงดนตรี “ไทยแลนด์ ฟิลฮาร์โมนิก ออเคสตรา” ณ หอประชุมราชแพทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
การจัดงานศิริราชคอนเสิร์ตเทิดไท้องค์อัครศิลปินครั้งนี้ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระเกษมสำราญ และเพื่อรำลึกถึง วันที่ 29 กันยายน 2516 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรี ที่หอประชุมราชแพทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
วงดนตรี “ไทยแลนด์ฟิวฮาโมนิกออเคสตร้า” ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเป็นออเคสตร้าวงอาชีพ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลและวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข เป็นผู้อำนวยการดนตรี นายกุดนี่ เอมิลสัน และ พ.ต.ประทีป สุพรรณโรจน์ วาทยกร แต่ละปีที่ผ่านมาจะมีการแสดงระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งการแสดงในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษและเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ของวงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดแสดงโดยบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ 19 เพลง
----------------------------------------------------------------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

 วันมหิดลประจำปี ๒๕๕๓








     24 กันยายน 2553 เวลา 10.00 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องใน “วันมหิดล” ณ โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล รองอศาสตราจารย์นายแพทย์สุรินทร์ ธนพิพัฒนศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช พลเรือเอกกำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ เฝ้าฯรับเสด็จฯ     จากนั้น ภาคบ่าย มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการ ผู้แทนหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานภายนอก ร่วมประกอบพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบรมราชชนก
     วันมหิดล ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันทิวงคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หน่วยงานต่างๆ จึงจัดกิจกรรมขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย ผู้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ ทรงพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์และการสาธารณสุขให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยะประเทศดังเช่นปัจจุบัน

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

ขอแสดงความไว้อาลัยกับการถึงแก่อนิจกรรมของ
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล



     มหาวิทยาลัยมหิดล ขอแสดงความไว้อาลัยกับการถึงแก่อนิจกรรมของศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน 2553
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ประดิษฐ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2534 - 38 มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนถึงแก่อนิจกรรม ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ
ทั้งนี้ เจ้าภาพกำหนดจัดพิธีฯ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
วันอังคารที่ 21 กันยายน 2553
เวลา 17.00 น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
วันอังคารที่ 21 กันยายน 2553 - วันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2553
พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นเวลา ๗ วัน
วันอังคารที่ 28 กันยายน 2553 - วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2553
เวลา 19.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ณ ศาลาสีหโสภณ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร แขวงวัดเทพ
ศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
**(หมายเหตุ งดรับดอกไม้ เจ้าภาพจะนำเงินบริจาคสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ และมูลนิธิโรคไตฯ)**
ในการนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล จะร่วมเป็นเจ้าภาพในการสวดพระอภิธรรม วันอังคารที่ 28 กันยายน 2553 เวลา 19.00 น.


วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

มหาวิทยาลัย ของประเทศไทย 2 แห่ง ติดอันดับ Top 400 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
     รองศาสตราจารย์พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา Times Higher Education (THE) ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ประจำปี 2010-2011 ผลปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยของประเทศไทยติดอันดับโลกในระดับ Top 400 จำนวน 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ 306 และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ 341 โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ตัวชี้วัดที่ใช้ในการพิจารณาขึ้นใหม่ 5 ตัวชี้วัด คือ
- Teaching — the learning environment โดยพิจารณาจากบรรยากาศการเรียนการสอน ประกอบด้วย ชื่อเสียงด้านการเรียนการสอน สัดส่วนนักศึกษาปริญญาเอกที่สำเร็จการศึกษาต่ออาจารย์ จำนวนการรับเข้านักศึกษาปริญญาตรีต่ออาจารย์ รายได้ต่ออาจารย์ และสัดส่วนนักศึกษาปริญญาเอกที่สำเร็จการศึกษาต่อนักศึกษาปริญญาตรีที่สำเร็จการศึกษา (ค่าน้ำหนัก 30%)
- Research — volume, income and reputation พิจารณาจากปริมาณ ผลงานวิจัย รายได้ และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ชื่อเสียงด้านการวิจัย รายได้จากการวิจัย จำนวนผลงานตีพิมพ์ต่ออาจารย์และนักวิจัย และรายได้วิจัยจากภาครัฐต่อรายได้วิจัยรวม (ค่าน้ำหนัก 30%)
- Citations — research influence พิจารณาจากจำนวนการอ้างอิงผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักวิชาการทั่วโลกในคุณภาพงานวิจัย (ค่าน้ำหนัก 32.5%)
- Industry income — innovation พิจารณาจากรายได้ของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงคุณภาพของการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม (ค่าน้ำหนัก 2.5%)
- International mix — staff and students พิจารณาจากความหลากหลายของนักศึกษาและบุคลากรนานาชาติในมหาวิทยาลัยซึ่งสะท้อนถึงการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ โดยคำนึงถึงอัตราส่วนของบุคลากร –นักศึกษาจากต่างประเทศต่อบุคลากร - นักศึกษาภายในประเทศ (ค่าน้ำหนัก 5%)
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของ Times Higher Education (THE) ร่วมกับ บริษัท Thomson Reuters ภายหลังจากนิตยสาร Times Higher Education (THE) แยกตัวออกจากบริษัท Quacquarelli Symonds Ltd. (QS) เมื่อต้นปี 2010 ที่ผ่านมา (ดูเกณฑ์การพิจารณาของ THE ที่นี่)
----------------------------------------------------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม “แนะแนวทางสู่รั้วมหิดล” ณ โรงเรียนนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์




   วันที่ 3 กันยายน 2553 นายแพทย์สมพงษ์ ยูงทอง รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดกิจกรรม “แนะแนวทางสู่รั้วมหิดล” ณ โรงเรียนนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ จากนั้น รองศาสตราจารย์ศรีสนิท อินทรมณี คณะเทคนิคการแพทย์ บรรยายแนะนำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมด้วยคณาจารย์เจ้าของหลักสูตรร่วมให้ข้อมูล โดยมี อาจารย์แนะแนว นักเรียน ให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,000 คน
----------------------------------------------------------------------------------------