วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน 43 ปี วันพระราชทานนาม
มหาวิทยาลัยมหิดล
 
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ
 รัชตะนาวิน
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานวางพานพุ่มถวายสักการะพระบรมรูป สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในโอกาส 43 ปี วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดลมีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 124 ปี นับแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานกำเนิดโรงศิริราชพยาบาล เมื่อปี พ.ศ.2431 พัฒนาเป็นราชแพทยาลัย โรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2433 และได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2486 ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทาน พระนามาภิไธย “มหิดล” ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้เป็นนามใหม่ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2512 และได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทให้พัฒนามหาวิทยาลัย ขยายขอบข่ายวิชาการให้กว้างขวางเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบเช่นในปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน 43 ปี วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 2 มีนาคม 2555 ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยในงานภาคเช้า พิธีสงฆ์ พิธีวางพานพุ่มสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพิธีเปิดนิทรรศการผลิตภัณฑ์วิชาการ จากนั้นมีปาฐกถาเกียรติยศศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ ครั้งที่ 7 เรื่อง "แนวทางการบริหารจัดการองค์กรสู่ความยั่งยืน" โดย ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พิธีแสดงมุทิตาจิตผู้อาวุโส พิธีมอบรางวัลและเชิดชูเกียรติ รางวัลมหิดลทยากร อาจารย์ตัวอย่าง อาจารย์ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการนักศึกษา ผลงานการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตร รางวัลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานมหาวิทยาลัยดีเด่น รางวัลแม่ดีบุคลากรเด่น และผู้มีสิทธิรับเข็มเครื่องหมายมหาวิทยาลัย
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กล่าวว่า ในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรเป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ ความยั่งยืน องค์กรจะยั่งยืนได้จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องทำให้สังคมรับรู้ว่าเรา “ห่วงใย - แบ่งปัน - ใส่ใจ” โดยใช้หลัก C-S-R (Care-Share-Respect) จึงจะประสบความสำเร็จได้
--------------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น