วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาดูงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ณ จังหวัดอำนาจเจริญ



วันที่ 19 มิถุนายน 2557 ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทาลัยมหิดล พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางศึกษาดูงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์จตุรงค์ จันทร์สี่ทิศ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกษม กุลประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโครงการวิจัยแบบสหสาขาวิทยาเพื่อการถ่ายทอดความรู้ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมพืชท้องถิ่นพื้นที่ศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยคณะร่วมต้อนรับ
ในภาคเช้า คณะผู้บริหารได้เข้าเยี่ยมชมโรงพยาบาลอำนาจเจริญ โดยมี นายแพทย์ทรงเกียรติ เล็กตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและคณะผู้บริหารร่วมให้การต้อนรับ โดยได้นำเสนอข้อมูลการดำเนินงาน การบริหารโรงพยาบาลประจำจังหวัด และร่วมหารือแนวทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดยอธิการบดีได้กล่าวชื่นชมระบบการทำงานของโรงพยาบาลอำนาจเจริญที่มีการทำงานร่วมกันในเครือข่ายวิชาชีพ มีการทำ Service plan ที่เน้นการให้บริการผู้ป่วยอย่างกว้างขวางและทั่วถึงตามความต้องการของคนในพื้นที่ ในฐานะของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันการศึกษาที่มีวิทยาเขตตั้งอยู่ในจังหวัดอำนาจเจริญและมีการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์แล้ว เราจะสามารถที่จะขยายสาขาให้ครอบคลุมทางด้าน Health Science ซึ่งอาจจะทำให้ความร่วมมือทางด้านระบบสุขภาพและการพัฒนาทางการศึกษาทางการแพทย์เชื่อมโยงกับท้องถิ่นตามความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
และในภาคบ่าย นายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมากจากพระราชดำริฯ ได้บรรยายเรื่อง “การนำกรอบการดำเนินงานพันธกิจของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนโดยรอบวิทยาเขต” ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์และการแบ่งปันความหลากหลายที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรทางชีวภาพอย่างคุ้มค่า โดยมีพัฒนาประสิทธิภาพของการศึกษาวิจัยงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สร้างจิตสำนึก โดยการประสานหน่วยงานต่างๆ ในการเชื่อมโยงหน่วยงานและทำฐานข้อมูลพันธุกรรมพืชเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้ศึกษาและมีฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิภาพ

วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ต้อนรับคณะดูงานจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


   เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน  2557  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทันตแพทย์พีระ สิทธิอำนวย รองอธิการบดี
ฝ่ายบริหารแลสภามหาวิทยาลัย ต้อนรับ รองศาสตราจารย์ ธีรภัทร วรรณฤมล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่าย
สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และคณะ  เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมชม
ศึกษาดูงานด้านแผนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์  และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านการประชาสัมพันธ์
ของมหาวิทยาลัยมหิดล

จากนั้น คณะศึกษาดูงานได้นั่งรถรางเยี่ยมชมทัศนียภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล 

วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กองบริหารงานทั่วไปมอบช่อดอกไม้ร่วมแสดงความยินดี



เมื่อวันที่    มิถุนายน  ๒๕๕๗  เวลา  ๑๐.๐๐ – ๑๓.๐๐ น.  นางรุจิรารัตน์   บรรจง  รักษาการแทนผู้อำนวยการกองบริหารงานทั่วไป ได้เข้าร่วมพิธีทำบุญและมอบช่อดอกไม้แด่รองศาสตราจารย์อาทิตย์  อังกานนท์ รองอธิการบดี
ฝ่ายสารสนเทศ เนื่องในวาระครบรอบ ๕ ปี  แห่งการก่อตั้งกองเทคโนโลยีสารสนเทศ   และหลังจากนั้นได้เข้าร่วมพิธีทำบุญและมอบช่อดอกไม้แด่รองศาสตราจารย์วิชาญ  โชคธนะศิริ รองอธิการบดีฝ่ายการคลังและสินทรัพย์ เนื่องในพิธีทำบุญเลี้ยงพระกองคลัง  เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตการทำงาน 


วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2557

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงเปิด "มหิดลสิทธาคาร" ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
 
 
 
 
   เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงเปิด “มหิดลสิทธาคาร” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา เฝ้ารับเสด็จ จากนั้น เสด็จเข้าสู่ที่ประทับ ทอดพระเนตรวีดิทัศน์ พระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีอุปการคุณ เสด็จไปยังแท่นทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย ชื่อ “มหิดลสิทธาคาร” ทอดพระเนตรนิทรรศการ ทรงวาดภาพมหิดลสิทธาคาร ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีจากวง Thailand Philharmonic Orchestra และทรงปลูกต้นจำปีสิรินทร
    มหิดลสิทธาคาร เป็นหอประชุมแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารดังกล่าวว่า “มหิดลสิทธาคาร” ซึ่งหมายถึง “อาคารที่มีความสำเร็จแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล” และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สภามหาวิทยาลัยมหิดลจึงมีมติให้ใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Prince Mahidol Hall” เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล และใช้ในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การแสดงละคร ดนตรี ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ การประชุมสัมมนา ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
การออกแบบหอประชุม “มหิดลสิทธาคาร” มีแนวคิดมาจากโครงสร้างเชิงกายภาพของมนุษย์ ซึ่งสะท้อนความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีรากฐานมาจากการแพทย์ ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทยและรูปทรง “ดอกกันภัยมหิดล” ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล โครงสร้างอาคารปราศจากเสากลาง หลังคามี ๒ ชั้น ชั้นในใช้วัสดุพิเศษเพื่อป้องกันเสียงจากภายนอก ส่วนหลังคาชั้นนอกใช้วัสดุทองแดง ซึ่งในอีก ๓๐ ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนสีงดงามเหมือนหลังคาพระที่นั่งอนันตสมาคม มีพื้นที่ใช้สอย ๒๖,๔๗๐ ตารางเมตร ภายในมี ๒,๐๑๖ ที่นั่ง ระบบพิเศษของอาคารใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโรงละครจากประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมันเป็นที่ปรึกษา จึงมีระบบเสียง แสง วิศวกรรมเวที และระบบอะคูสติก (Acoustic) ที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการใช้งานประเภทต่างๆ โดยผู้ชมจะได้อรรถรสทางเสียงเหมือนกันทุกที่นั่ง นอกจากนี้ระบบปรับอากาศภายในห้องประชุม ใช้การพ่นความเย็นจากพื้นใต้เก้าอี้ผู้ชม จึงไม่มีเสียงรบกวนและประหยัดพลังงาน เวทีมีความกว้างขวาง สามารถจัดตกแต่งเป็นที่ประทับในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรได้อย่างงดงามและสมพระเกียรติ ซึ่งปี พ.ศ. ๒๕๕๗ นี้ จะเป็นปีแรกที่พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยมหิดลเอง ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทานปริญญาบัตร ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

บุคลากรกองบริหารงานทั่วไป ร่วมสรงน้ำพระ
รดน้ำขอพร รก.แทนผู้อำนวยการกองบริหารงานทั่วไป
เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๗
วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๗ 









  วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๗ บุคลากรกองบริหารงานทั่วไปร่วมสรงน้ำพระ และรดน้ำขอพรจาก  นางรุจิรารัตน์  บรรจง รก.แทนผู้อำนวยการกองบริหารงานทั่วไป เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปี  พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ ห้องกองบริหารงานทั่วไป (ชั้น ๔) หลังจากนั้น ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน                      หน้าห้องกองบริหารงานทั่วไป ชั้น ๔ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

พิธีวางศิลาฤกษ์โรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล


วันที่ 24 มีนาคม 2557 ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมในพิธีด้วย ณ บริเวณอาคารชุดพักอาศัย D (คอนโด D) มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
โรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หลักสูตรนานาชาติ โดยหลักสูตรการเรียนการสอนเน้นการสร้างปัญญาจากประสบการณ์ ความเป็นเลิศทางวิชาการ เสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่ไปกับการสร้างศักยภาพทางปัญญา เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติ อาคารโรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 18,951 ตารางเมตร ก่อสร้างในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา บนเนื้อที่ประมาณ 24,000 ตารางเมตร ติดกับบริเวณอาคารชุดพักอาศัย D (คอนโด D) ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 23 มิถุนายน 2558 

วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

งาน 45 ปี วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล


เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานวางพานพุ่มถวายสักการะพระบรมรูป สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในโอกาส 45 ปี วันพระราชทานนาม
มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดลมีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 126 ปี นับแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานกำเนิดโรงศิริราชพยาบาล เมื่อปี พ.ศ.2431 พัฒนาเป็นราชแพทยาลัย โรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2433 และได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2486 ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทาน พระนามาภิไธย “มหิดล” ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้เป็นนามใหม่ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2512 และได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทให้พัฒนามหาวิทยาลัย ขยายขอบข่ายวิชาการให้กว้างขวางเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบเช่นในปัจจุบัน
งานเริ่มด้วยพิธีสงฆ์ ทักษิณานุประทาน ณ ห้องบรรยายศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ สำนักงานอธิการบดี, พิธีวางพานพุ่มสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พิธีเปิดนิทรรศการวิชาการ และนิทรรศการสวนสมุนไพร ณ บริเวณโถง ชั้น 1 สำนักงานอธิการบดี, ปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ ครั้งที่ 8 และ พิธีแสดงมุทิตาจิตผู้อาวุโส, พิธีมอบรางวัลและเชิดชูเกียรติ รางวัลมหิดลทยากร รางวัลคนดีศรีมหิดลอาจารย์ตัวอย่าง อาจารย์ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการนักศึกษา ผลงานการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตร รางวัลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานมหาวิทยาลัยดีเด่น รางวัลแม่ดีบุคลากรเด่น และผู้มีสิทธิรับเข็มเครื่องหมายมหาวิทยาลัย ปิดท้ายด้วยพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล ณ สนามฟุตบอล 1 มหาวิทยาลัย
มหิดล ศาลายา
งานวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดลปีนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แสดงปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ ครั้งที่ 8 เรื่อง “ประเทศไทยบนเส้นทางเปลี่ยนผ่าน” โดยกล่าวว่า ในหลายปีที่ผ่านมามีหลายสิ่งเกิดขึ้นกับประเทศไทย บ้างก็มาจากปัจจัยภาคนอก บ้างก็มาจากปัจจัยภายใน ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง และ สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในสภาพหดตัว เปราะบาง เนื่องจากสภาพบ้านเมืองที่ไม่ปกติ มีรัฐบาลที่ไม่แน่นอน สิ่งที่น่ากลัว คือ ถ้าเรายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ โดยที่ยังไม่มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง สิ่งที่ตามมาจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของสังคมโลก ต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ที่น่ากังวลมากที่สุด คือ AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่น่าจะเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับประเทศได้ เนื่องจากประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของ AEC พอดี ประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนสู่ทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงขึ้นอยู่กับตัวเราจะปรับเปลี่ยนอย่างไร มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์รวมของผู้มีการศึกษาสูงสุด ถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยควรจะมาทบทวนบทบาทว่าเป็นผู้นำทางวิชาการพอหรือไม่ในเวลาที่บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ มหาวิทยาลัยควรช่วยกันคิดช่วยกันผลักดันให้เกิด research agenda ที่สำคัญต่อการปฏิรูป ทำหน้าที่เป็นกาวเชื่อมโยงสังคม ให้ประชาชนเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป
นอกจากนี้ ณ บริเวณลานหน้าอาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้จัดให้มี “ตลาดนัดสุขภาพ” บริการฟรี ตรวจสุขภาพทั่วไป ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ทำฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน นวดแผนไทย ฝังเข็ม ปรึกษาภาวะโภชนาการ วิเคราะห์องค์ประกอบมวลกาย (BMI), กายภาพบำบัด, วัดมวลกระดูก และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์คุณภาพนานาชนิดของมหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Outlet) 

วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ขอเชิญร่วมงานวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล (2 มีนาคม) กำหนดจัดงานวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557

ดูภาพขนาดใหญ่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์บัณฑิต จิรจริยาเวช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ ม. มหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันครบรอบ 45 ปีวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตรง กับวันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เปิดเผยว่า ในปี 2557 นี้ มหาวิทยาลัยกำหนดจัดงานในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยในภาคเช้า จะมีพิธีสงฆ์และทักษิณานุประทาน ณ ห้องบรรยาย ศ.นพ.กษาน จาติกวนิช , พิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบรมราชชนก ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคาร สำนักงานอธิการบดี , พิธีเปิดนิทรรศการ 45 ปี วันพระราชทานนาม และนิทรรศการวิชาการ, การปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ ครั้งที่ 8 โดย ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ณ ห้องบรรยาย ศ.นพ.ชัชวาล โอสถานนท์ และพิธีแสดงมุทิตาจิตผู้อาวุโส ช่วงบ่าย จะมีพิธีมอบรางวัล เชิดชูเกียรติและมอบเข็มเครื่องหมาย มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ห้องบรรยาย ศ.นพ.กษาน จาติกวนิช และพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล “มหิดลเกมส์” ณ สนามฟุตบอล 1 ในเวลา 16.30 น.
นอกจากนี้ยังมีการให้บริการตรวจสุขภาพและทำฟัน ฟรี ตั้งแต่เวลา 8.00-15.00 น. ณ ชั้น 1 อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล ศาลายา ตรวจสุขภาพตามศาสตร์แพทย์แผนไทย-ธาตุเจ้าเรือน การฝังเข็ม ประเมิน- ประสิทธิภาพกล้ามเนื้อหน้าท้องและมือ บริการตรวจการคัดกรองผู้สูบบุหรี่ - คลินิกฟ้าใส ฉีดวัคซีนป้องกัน ไข้หวัดใหญ่ ปรึกษาการใช้ยา ตรวจภาวะกระดูกสันหลังคด ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย กายภาพบำบัด นวดแผนไทยประยุกต์ คอ บ่า ไหล่ รวมทั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากส่วนงานต่างๆของ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่

วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ม.มหิดลเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสามัญ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2557

มื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2557 และ การประชุม เรื่อง “การรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2557” ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ทปอ. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบปฏิทินการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2557 ใหม่ ตามที่คณะทำงานแอดมิชชันฟอรั่ม ของ ทปอ.ได้เสนอ สืบเนื่องจากผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ทำให้มีการเลื่อนการสอบแบบทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GATและ แบบทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT ครั้งที่ 1 /2557 และการสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 2/2557 ออกไป ทั้งนี้ ปฏิทินฉบับนี้จะใช้เฉพาะปีการศึกษา 2557 เท่านั้น
สำหรับกำหนดการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา 2557 หรือ แอดมิชชั่นกลาง มีดังนี้ สอบGAT/PAT ครั้งที่1 วันที่ 8 - 11 มี.ค. ประกาศผลวันที่ 24 เม.ย. สอบ GAT/PAT ครั้งที่ 2/2557 วันที่ 26 - 29 เม.ย. ประกาศผลวันที่ 29 พ.ค. นี้ ส่วนการจำหน่ายระเบียบการคัดเลือกฯ แอดมิชชั่นกลางวันที่ 12 - 22 มิ.ย., รับสมัครแอดมิชชั่นกลางวันที่ 15 - 22 มิ.ย., ชำระเงิน วันที่ 15 - 24 มิ.ย., ผู้สมัครตรวจสอบคะแนนที่ใช้ในการคัดเลือก วันที่ 27 - 28 มิ.ย., ประกาศผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกายวันที่ 1 ก.ค., และประกาศผู้มีสิทธิเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาวันที่ 15 ก.ค. ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวจะทำให้มหาวิทยาลัยมีเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ที่สอดรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ทปอ.มีมติกำหนดทิศทางการดำเนินงานของ ทปอ. ในปีนี้ โดยจะเน้นมีบทบาทเชื่อมโยงกับสังคมไทยให้มากขึ้น เป็นศูนย์กลางการพัฒนาการวิจัย โดยมหาวิทยาลัยจะร่วมมือกันสร้างงานวิจัยให้เข้มแข็ง รวมถึงมีมติขับเคลื่อนทีวีดิจิตอลของ ทปอ. โดยพร้อมจะยื่นข้อเสนอทันทีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้ยื่น
กรณีที่มีข่าวว่ากองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถูกตัดงบประมาณปี 2557 จำนวน 6,700 ล้านบาท นั้น ทปอ.ยังไม่ได้มีการหารือ ซึ่งหากถูกตัดงบจริงจะมีผลกระทบกับนักเรียน-นักศึกษาที่มีฐานะยากจน และมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเรียนแน่นอน ดังนั้น ในส่วนของ ทปอ. จะขอให้มหาวิทยาลัยต่างๆไปรวบรวมผลกระทบที่อาจจะเกิดกับนักศึกษาว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำมาหาทางแก้ปัญหาร่วมกันในการประชุม ทปอ. ครั้งต่อไป