วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาดูงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ณ จังหวัดอำนาจเจริญ



วันที่ 19 มิถุนายน 2557 ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทาลัยมหิดล พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางศึกษาดูงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์จตุรงค์ จันทร์สี่ทิศ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกษม กุลประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโครงการวิจัยแบบสหสาขาวิทยาเพื่อการถ่ายทอดความรู้ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมพืชท้องถิ่นพื้นที่ศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยคณะร่วมต้อนรับ
ในภาคเช้า คณะผู้บริหารได้เข้าเยี่ยมชมโรงพยาบาลอำนาจเจริญ โดยมี นายแพทย์ทรงเกียรติ เล็กตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและคณะผู้บริหารร่วมให้การต้อนรับ โดยได้นำเสนอข้อมูลการดำเนินงาน การบริหารโรงพยาบาลประจำจังหวัด และร่วมหารือแนวทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดยอธิการบดีได้กล่าวชื่นชมระบบการทำงานของโรงพยาบาลอำนาจเจริญที่มีการทำงานร่วมกันในเครือข่ายวิชาชีพ มีการทำ Service plan ที่เน้นการให้บริการผู้ป่วยอย่างกว้างขวางและทั่วถึงตามความต้องการของคนในพื้นที่ ในฐานะของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันการศึกษาที่มีวิทยาเขตตั้งอยู่ในจังหวัดอำนาจเจริญและมีการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์แล้ว เราจะสามารถที่จะขยายสาขาให้ครอบคลุมทางด้าน Health Science ซึ่งอาจจะทำให้ความร่วมมือทางด้านระบบสุขภาพและการพัฒนาทางการศึกษาทางการแพทย์เชื่อมโยงกับท้องถิ่นตามความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
และในภาคบ่าย นายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมากจากพระราชดำริฯ ได้บรรยายเรื่อง “การนำกรอบการดำเนินงานพันธกิจของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนโดยรอบวิทยาเขต” ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์และการแบ่งปันความหลากหลายที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรทางชีวภาพอย่างคุ้มค่า โดยมีพัฒนาประสิทธิภาพของการศึกษาวิจัยงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สร้างจิตสำนึก โดยการประสานหน่วยงานต่างๆ ในการเชื่อมโยงหน่วยงานและทำฐานข้อมูลพันธุกรรมพืชเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้ศึกษาและมีฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น