วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

มหาวิทยาลัยมหิดลมหิดล เผยผลประกวดขับร้องเพลงกล่อมลูก รอบชิงชนะเลิศ

 
 
 
     28 กรกฎาคม 2553 รองศาสตราจารย์ ดวงพร คำนูณวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานจัดการประกวดขับร้องเพลงกล่อมลูก 4 ภาค รอบชิงชนะเลิศ ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารภาษาและวัฒนธรรมสยามบรมราชกุมารี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
การประกวดขับร้องเพลงกล่อมลูก 4 ภาค เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 23 ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของเพลงกล่อมลูกซึ่งเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีลักษณะการดำรงชีวิตของชุมชนและมีคุณค่า สมควรได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู โดยเริ่มจัดการประกวดเมื่อปี พ.ศ.2531 และได้จัดประกวดมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหนึ่งในกิจกรรมเนื่องในงาน “มหิดล - วันแม่” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในปีนี้มีผู้ส่งเข้าประกวดประเภทประชาชน จำนวน 41 คน ประเภทนักเรียน นักศึกษา จำนวน 166 คน โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าชิงชนะเลิศ 4 ภาค รวม 38 คน ซึ่งผลการประกวดรอบชิงชนะเลิศ มีดังนี้
ภาคเหนือ
- ประเภทประชาชนทั่วไป
รางวัลชนะเลิศได้แก่ นายอัษนัย กางมูล จังหวัด เชียงใหม่
รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นางสมพิศ พรหมชิตมาตร์ จังหวัด กรุงเทพมหานคร
- ประเภทนักเรียน นักศึกษา
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวสุพรรณี บุญศรี โรงเรียนแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เด็กหญิงมินตรา รัตนชมภู โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ จังหวัดแพร่
ภาคกลาง
- ประเภทประชาชนทั่วไป
รางวัลชนะเลิศได้แก่ นางสาวสิริพร เอี่ยมมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ จ่าโทบดินทร์ ภูฆัง จังหวัดกรุงเทพมหานคร
- ประเภทนักเรียน นักศึกษา
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวญาณิศา เจริญผล โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย จังหวัดสุพรรณบุรี
รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เด็กหญิงกรุณา แสงอ่ำ โรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย จังหวัดสมุทรสงคราม
ภาคอีสาน
- ประเภทประชาชนทั่วไป
รางวัลชนะเลิศได้แก่ นางสาวสุวรรณี ผิวบวล จังหวัดขอนแก่น
รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นางแก้วตา ภารเวช จังหวัดอุบลราชธานี
- ประเภทนักเรียน นักศึกษา
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวสุรีฉาย ไชยวุฒิ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นายคุณากร วงลคร โรงเรียนโนนแดงวิทยาคม จังหวัดมหาสารคาม
ภาคใต้
- ประเภทประชาชนทั่วไป
รางวัลชนะเลิศได้แก่ นายสมบูรณ์ สุวิทยารัตน์ จังหวัดพัทลุง
รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นางอมรศรี สามารถ จังหวัดชุมพร
- ประเภทนักเรียน นักศึกษา
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวอลิษา ช่างเรือ โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล จังหวัดกระบี่
รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นายธัญพิสิษฐ์ เพ็งช่วย โรงเรียนควนขนุน จังหวัดพัทลุง
 
ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศจะได้เข้ารับรางวัลในงาน “มหิดล-วันแม่”
ในเดือนสิงหาคม 2553 ณ สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม
 
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงาน และประทานรางวัล งาน “มหิดล-วันแม่” ประจำปี 2553









เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงาน “มหิดล - วันแม่” ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลจัดขึ้นเป็นปีที่ 25 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา  ในงานมีการขับร้องเพลงกล่อมลูกโดยผู้ชนะการประกวดขับร้องเพลงกล่อมลูก 4 ภาค, พิธีมอบรางวัลแก่แม่สู้ชีวิต, แม่ 100 ปี, แม่ดี – บุคลากรเด่น, แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และนิทรรศการทางวิชาการ บริการตรวจสุขภาพโดยไม่คิดมูลค่า
ดูรายละเอียดผู้ที่ได้รับรางวัล ที่นี่(ที่มา: มหิดลสาร ฉบับวันที่ 31 สิงหาคม 2553 หน้า 14-17)
ดูภาพบรรยากาศงาน "มหิดล-วันแม่ 53"เพิ่มเติม ที่นี่
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553


มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศผลการคัดเลือก “แม่ดี-บุคลากรเด่น”
ของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2553

      คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกแม่ดี – บุคลากรเด่น ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้พิจารณาคัดเลือกรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นแม่ดี – บุคลากรเด่นระดับหน่วยงาน จำนวนทั้งสิ้น 19 ราย เพื่อให้เป็น “แม่ดี-บุคลากรเด่น” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2553 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลผู้ปฏิบัติหน้าที่แม่เป็นอย่างดี และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคลากรต่อไป ปรากฎผลผู้ได้รับการคัดเลือก ดังนี้
“แม่ดี-บุคลากรเด่น” ของมหาวิทยาลัยมหิดล
ระดับดีเด่น
1. นางราตรี บำรุงกิจ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
 แม่ราตรี บำรุงกิจ นักวิชาการศึกษา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แม่มีลูกสาว ๑ คน คือน้องฝ้าย กำลังศึกษาระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ ๒ โรงเรียนนีรชาศึกษา มีโรคประจำตัวเป็นโรคภูมิแพ้ หอบ และเส้นเลือดหัวใจตีบ ในขณะเดียวกันแม่ราตรีเองก็ป่วยเป็นโรคไซนัส โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งเต้านม แต่แม่ราตรีก็ไม่เคยย่อท้อ แม่ราตรีมีแนวคิดสำคัญในการเลี้ยงลูก ส่วนหนึ่งได้มาจากการทำงานในภาควิชาจิตเวชศาสตร์ที่ให้เห็นความสำคัญทางด้านจิตใจ มิได้เพียงแค่มุ่งหวังให้ลูกเป็นคนเก่ง หรือเป็นคนฉลาดเท่านั้น ถึงแม้ลูกจะขาดพ่อซึ่งเป็นผู้นำของครอบครัว แต่แม่ก็ได้มอบความรัก ความอบอุ่นเอาใจใส่ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีอย่างสม่ำเสมอในทุกด้าน โดยหวังว่าชีวิตแม่จะเป็นแบบฝึกหัดชีวิตจริงให้ลูก จะช่วยให้ลูกสามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ และเติบโตเป็นคนดีของสังคม

2. นางทองอยู่ ฤทธิ์ขจร คณะพยาบาลศาสตร์
แม่ทองอยู่ ฤทธิ์ขจร นักการภารโรง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แม่ของลูก ๒ คน แม่ทองอยู่เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ มีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างดีเยี่ยมตลอดมา แม่เคยประสบอุบัติเหตุหกล้มกระดูกสันหลังหักต้องใส่เหล็กดามไว้ แต่แม่ทองอยู่ก็ยังคงรับผิดชอบงานทำความสะอาดโดยมิได้บกพร่องต่อหน้าที่ แม่ทองอยู่ต้องเลี้ยงลูกเองคนเดียว แม้รายได้เพียงน้อยนิดแต่ก็สามารถส่งให้ลูกเรียน และดูแลแม่วัย ๙๕ ปี โดยพยายามหารายได้เสริมด้วยการรับจ้างซักผ้านักศึกษา และอยู่เวรกลางคืน ลูกทั้ง ๒ คนก็เคยมาทำงานช่วยแม่ปัดกวาดเช็ดถูที่ทำงาน ปัจจุบันลูกทั้ง ๒ คนเรียนจบปริญญาตรีและได้ทำงานในบริษัทที่ดี เป็นที่รักของผู้ร่วมงาน และมีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดา มารดา

“แม่ดี-บุคลากรเด่น” ของมหาวิทยาลัยมหิดล
ระดับชมเชย
1. นางมาลัย มีฤาการณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
แม่มาลัย มีฤาการณ์ คนครัว ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศิริราช ทำหน้าที่ปรุงประกอบอาหารบุคลากร อาหารผู้ป่วยพิเศษ อาหารผู้ป่วยนานาชาติ ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่หน่วยเตรียมวัสดุอาหาร แม่เลี้ยงลูกคนเดียวเพียงลำพังเนื่องจากสามีมีปัญหาด้านสุขภาพส่งผลให้ต้องลาออกจากงานกลางคัน ป่วยหนักและจากไปในที่สุด ทำให้ครอบครัวต้องอยู่กันอย่างประหยัด และมีแม่มาลัยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของบ้าน ลูกรู้เสมอว่าแม่ต้องเหนื่อย จึงไม่เคยเรียกร้องเหมือนเด็กอื่นๆ แต่จะอยู่กับบ้าน ช่วยแม่ทำความสะอาดบ้าน และดูแลพ่อในยามที่ยังอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า แม่สอนลูกให้รักดี แม้ว่าจะเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้เพียบพร้อมสมบูรณ์ แต่ลูกสามารถที่จะเป็นคนดีได้ แม่มาลัยสามารถส่งลูกจนจบปริญญา ได้เป็นอาจารย์สอนวิชาพละที่โรงเรียนโยธินบูรณะ กรุงเทพฯ และไม่เคยสร้างความผิดหวังให้กับแม่เลย

2. นางกาญจนา สวดมาลัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
แม่กาญจนา สวดมาลัย ครูและพี่เลี้ยงศูนย์สิกขาวัฒนา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัย มีลูก ๒ คน คนโต ๘ ขวบเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ คนเล็ก ๔ ขวบกำลังศึกษาชั้นอนุบาล และป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อซีกซ้ายอ่อนแรง ต้องฝึกกายภาพบำบัด เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา และการเดินทางจำนวนไม่น้อย สามีมีอาชีพรับจ้างเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย รายได้ไม่มากนัก เงินเดือนพ่อแม่รวมกันเพียง ๑๓,๗๐๐ บาทต่อเดือน แต่แม่กาญจนาก็ไม่เคยย่อท้อ ทำทุกอย่างเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับลูกเท่าที่ยังมีแรงและมีชีวิตอยู่ เพื่อให้ลูกอยู่ได้ด้วยความเข้มแข็ง ให้สามารถดูแลตัวเอง โดยไม่ให้เป็นภาระของผู้อื่น และมักบอกลูกชายคนโตเสมอว่าให้รักน้อง สงสารน้อง และช่วยดูแลน้อง ในการปฏิบัติงานก็เช่นกัน แม่กาญจนาสามารถทำหน้าที่ครูและพี่เลี้ยงได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ใช้สัญญาตญาณของความเป็นแม่ ใส่ใจดูแลเด็กๆ เหมือนกับลูกของตัวเอง

3. นางอรชา สาทประเสริฐ คณะกายภาพบำบัด
แม่อรชา สารทประเสริฐ เป็นบุคลากรในคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล รับผิดชอบทำความสะอาดห้องเรียน จัดเตรียมเอกสารการเรียนการสอน และเอกสารคลินิกกายภาพบำบัด จัดอาหารในงานประชุม แม่อรชาเป็นผู้ที่มีความขยันและซื่อสัตย์สุจริตในการทำงาน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน มีความสุภาพอ่อนน้อม และเป็นที่รักและไว้วางใจของผู้ร่วมงาน นอกจากนี้ยังได้อบรมสั่งสอนให้บุตรทั้ง ๒ คน เป็นคนดี และมีหน้าที่การงานที่มั่นคง แม่อรชาให้ความรักความอบอุ่น ให้ความใกล้ชิดตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ เป็นกำลังใจให้ลูกยามป่วยไข้ อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี มีความอดทน มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ รู้จักประหยัดในการใช้จ่าย มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานและเป็นที่รักของผู้ร่วมงาน

4. นางสุขวัญ วรรณสุขทอง สถาบันโภชนาการ
  นางสุขวัญ วรรณสุขทอง แม่ของลูก ๒ คน ตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุที่สถาบันโภชนาการคือตำแหน่งคนงาน แต่ในการปฏิบัติงานจริงทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการผู้อำนวยการ ลำพังเงินเดือนตำแหน่งคนงานไม่เพียงพอที่จะเป็นค่าเล่าเรียนและค่าอาหารของลูก จึงต้องรับจ้างซักผ้ารีดผ้าในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ขณะเดียวกันก็แบ่งเวลาไปรับจ้างทำความสะอาดบ้าน รับนมจิตรดา - ทำแซนวิชส่งร้านค้า ขยันอดทนทำงานทุกอย่างเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงลูก แม่สุขวัญถือได้เป็นแม่ที่ขยัน เสียสละ และทำงานหนักเหมือนเดิม

ผู้ได้รับรางวัลจะเข้ารับรางวัลในงาน “มหิดล-วันแม่” ในเดือนสิงหาคม 2553
ณ สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม
 
---------------------------------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์
พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล
ประจำปีการศึกษา 2552






     เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ณ หอประชุมกองทัพเรือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันสมทบ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๒
โดยในปีนี้มหาวิทยาลัยมหิดลทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในปีการศึกษา ๒๕๕๒ มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งสิ้น ๕,๓๙๒ คน มีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรภาคเช้า จำนวน ๒,๖๘๘ ราย ภาคบ่าย จำนวน ๒,๗๐๔ ราย โดยรวมถึงผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันสมทบ นอกจากนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยมหิดลเข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน ๖ ราย รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล และเกียรติบัตรศาสตราจารย์เกียรติคุณ และศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ จำนวน ๑๑ ราย
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดลมีคณะวิชาเปิดสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกและประกาศนียบัตรบัณฑิต รวม ๓๔ แห่ง มีหลักสูตรการศึกษา รวม ๕๗๑ หลักสูตรซึ่งคณะ/สถาบันที่เข้ารับปริญญา ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย ว.การจัดการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะกายภาพบำบัด คณะสิ่งแวดล้อมฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ว.ศาสนศึกษา ว.ดุริยางคศิลป์ คณะสังคมศาสตร์ฯ ว.พยาบาลกองทัพบก ว.พยาบาลกองทัพเรือ ว.พยาบาลทหารอากาศ ว.พยาบาลเกื้อการุณย์ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ว.นานาชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ว.การจัดการ ม.มหิดล กาญจนบุรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ ว.ราชสุดา สถาบันพระบรมราชชนก ว.แพทยศาสตร์ กทม. และ ว.แพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------