วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ขอเชิญร่วมงานวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล (2 มีนาคม) กำหนดจัดงานวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557

ดูภาพขนาดใหญ่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์บัณฑิต จิรจริยาเวช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ ม. มหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันครบรอบ 45 ปีวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตรง กับวันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เปิดเผยว่า ในปี 2557 นี้ มหาวิทยาลัยกำหนดจัดงานในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยในภาคเช้า จะมีพิธีสงฆ์และทักษิณานุประทาน ณ ห้องบรรยาย ศ.นพ.กษาน จาติกวนิช , พิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบรมราชชนก ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคาร สำนักงานอธิการบดี , พิธีเปิดนิทรรศการ 45 ปี วันพระราชทานนาม และนิทรรศการวิชาการ, การปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ ครั้งที่ 8 โดย ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ณ ห้องบรรยาย ศ.นพ.ชัชวาล โอสถานนท์ และพิธีแสดงมุทิตาจิตผู้อาวุโส ช่วงบ่าย จะมีพิธีมอบรางวัล เชิดชูเกียรติและมอบเข็มเครื่องหมาย มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ห้องบรรยาย ศ.นพ.กษาน จาติกวนิช และพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล “มหิดลเกมส์” ณ สนามฟุตบอล 1 ในเวลา 16.30 น.
นอกจากนี้ยังมีการให้บริการตรวจสุขภาพและทำฟัน ฟรี ตั้งแต่เวลา 8.00-15.00 น. ณ ชั้น 1 อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล ศาลายา ตรวจสุขภาพตามศาสตร์แพทย์แผนไทย-ธาตุเจ้าเรือน การฝังเข็ม ประเมิน- ประสิทธิภาพกล้ามเนื้อหน้าท้องและมือ บริการตรวจการคัดกรองผู้สูบบุหรี่ - คลินิกฟ้าใส ฉีดวัคซีนป้องกัน ไข้หวัดใหญ่ ปรึกษาการใช้ยา ตรวจภาวะกระดูกสันหลังคด ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย กายภาพบำบัด นวดแผนไทยประยุกต์ คอ บ่า ไหล่ รวมทั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากส่วนงานต่างๆของ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่

วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ม.มหิดลเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสามัญ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2557

มื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2557 และ การประชุม เรื่อง “การรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2557” ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ทปอ. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบปฏิทินการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2557 ใหม่ ตามที่คณะทำงานแอดมิชชันฟอรั่ม ของ ทปอ.ได้เสนอ สืบเนื่องจากผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ทำให้มีการเลื่อนการสอบแบบทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GATและ แบบทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT ครั้งที่ 1 /2557 และการสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 2/2557 ออกไป ทั้งนี้ ปฏิทินฉบับนี้จะใช้เฉพาะปีการศึกษา 2557 เท่านั้น
สำหรับกำหนดการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา 2557 หรือ แอดมิชชั่นกลาง มีดังนี้ สอบGAT/PAT ครั้งที่1 วันที่ 8 - 11 มี.ค. ประกาศผลวันที่ 24 เม.ย. สอบ GAT/PAT ครั้งที่ 2/2557 วันที่ 26 - 29 เม.ย. ประกาศผลวันที่ 29 พ.ค. นี้ ส่วนการจำหน่ายระเบียบการคัดเลือกฯ แอดมิชชั่นกลางวันที่ 12 - 22 มิ.ย., รับสมัครแอดมิชชั่นกลางวันที่ 15 - 22 มิ.ย., ชำระเงิน วันที่ 15 - 24 มิ.ย., ผู้สมัครตรวจสอบคะแนนที่ใช้ในการคัดเลือก วันที่ 27 - 28 มิ.ย., ประกาศผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกายวันที่ 1 ก.ค., และประกาศผู้มีสิทธิเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาวันที่ 15 ก.ค. ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวจะทำให้มหาวิทยาลัยมีเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ที่สอดรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ทปอ.มีมติกำหนดทิศทางการดำเนินงานของ ทปอ. ในปีนี้ โดยจะเน้นมีบทบาทเชื่อมโยงกับสังคมไทยให้มากขึ้น เป็นศูนย์กลางการพัฒนาการวิจัย โดยมหาวิทยาลัยจะร่วมมือกันสร้างงานวิจัยให้เข้มแข็ง รวมถึงมีมติขับเคลื่อนทีวีดิจิตอลของ ทปอ. โดยพร้อมจะยื่นข้อเสนอทันทีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้ยื่น
กรณีที่มีข่าวว่ากองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถูกตัดงบประมาณปี 2557 จำนวน 6,700 ล้านบาท นั้น ทปอ.ยังไม่ได้มีการหารือ ซึ่งหากถูกตัดงบจริงจะมีผลกระทบกับนักเรียน-นักศึกษาที่มีฐานะยากจน และมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเรียนแน่นอน ดังนั้น ในส่วนของ ทปอ. จะขอให้มหาวิทยาลัยต่างๆไปรวบรวมผลกระทบที่อาจจะเกิดกับนักศึกษาว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำมาหาทางแก้ปัญหาร่วมกันในการประชุม ทปอ. ครั้งต่อไป

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลศึกษาดูงาน แนวทางการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ตามตำราแม่ฟ้าหลวงฯ 
ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 
(ระหว่างวันที่ 15 - 18 กุมภาพันธ์ 2557) 
 
 
 
 
 
 


เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลเข้ารับฟังการบรรยายสรุปเรื่องการพัฒนา การศึกษาในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ โดยมี Mr.Antony Herring ผู้จัดการฝ่ายการศึกษา โครงการพัฒนา ดอยตุงฯ เป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับระบบการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีด้วยกัน จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.โรงเรียนห้วยไร่สามัคคี 2.โรงเรียนอนุบาลแม่ฟ้าหลวง 3.โรงเรียนขาแหย่งพัฒนา 4.โรงเรียนป่าซางนาเงิน 5. โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 6. โรงเรียนบ้านผาฮี้ 7. โรงเรียนคีรีสมวงศ์ 8. โรงเรียน ตชด.สังวาลย์วิทย์ 8 ชมการเรียนการสอนแบบบูรณาการ หลักสูตรแบบมอนเตสเซอรี่ (Montessori) เด็กเรียนรู้ "อย่างเป็นธรรมชาติ" ของโรงเรียนขาแหย่งพัฒนา ชมการเรียนการสอนหลักสูตรวิชาชีพของโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่โครงการพัฒนา ดอยตุงเป็นต้นแบบทางด้านการจัดการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนโดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้มีทักษะอาชีพที่ สอดคล้องกับท้องถิ่น และร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง ร่วมฟังบรรยายสรุป “โครงการขยายผลการพัฒนาทางเลือก ในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์ หอแห่งแรงบันดาลใจ โดยหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพัฒนามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมกิจกรรม Workshop โดยนำผลที่ได้จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งนี้ ยังเป็นการต่อยอดและบูรณาการ งานวิจัยในด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ และพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลต่อไป
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมกิจกรรม Workshop ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อหารือในการพัฒนาความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดลกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่




ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลศึกษาดูงาน แนวทางการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ตามตำราแม่ฟ้าหลวงฯ 
ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 
(ระหว่างวันที่ 15 - 18 กุมภาพันธ์ 2557) 
 
 
 
 


เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมชมการสาธิตกระบวนการผลิตชา ชมศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง ดูงานโรงงาน กระดาษสา โรงงานทอผ้าและเย็บผ้า โครงการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ เพิ่ม ศักยภาพการผลิต โดยเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้สูงอายุสู่คนรุ่นใหม่ ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่า ตนมีคุณค่า จากนั้นได้รับเกียรติจาก ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ผู้นำรุ่นใหม่ในพื้นที่ เป็นวิทยากรบรรยาย การปลูกกาแฟ การบริหารจัดการ ด้านเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ และได้ศึกษาดูงานแปลงป่าเศรษฐกิจนวุติไซด์ ๑ และโรงงานแปรรูปแมคคาเดเมีย
ชมหอแห่งแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นหอพระราชประวัติ ได้เรียนรู้และเข้าใจ บทบาทของราชสกุลมหิดล ที่มีต่อคนไทยและแผ่นดิน อีกทั้งสร้างแรงบันดาลใจ และจุดประกาย ให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมคิดดี มุ่งมั่นประพฤติดี ปฏิบัติดี เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จากนั้นเดินทางไปยังสวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง ดอยช้างมูบ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำชาวบ้านฯ
ผู้บริหารเข้าร่วมกิจกรรม Workshop ภายใต้แนวคิด เรียนรู้อย่างไร? คิดอย่างไร? รู้สึกอย่างไร? กับ 2 วันที่ผ่านมา โดยมีการแบ่งกลุ่มและระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิด และนำเสนอแนวคิดของ แต่ละกลุ่ม ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายและก่อเกิดประโยชน์จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ 



ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลศึกษาดูงาน แนวทางการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ตามตำราแม่ฟ้าหลวงฯ 
ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 
(ระหว่างวันที่ 15 - 18 กุมภาพันธ์ 2557) 
   
 
 
 

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมศึกษาดูงาน ณ สำนักงานปลูกป่าปางมะหัน ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การศึกษาดูงาน ในหัวข้อ "ต้นแบบการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน" และ การปลูกป่าปลูกคน นอกจากนี้ยังได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำชาวบ้าน และทำให้ได้เรียนรู้ในการ สร้างคนโดยเพิ่มศักยภาพของตนเอง เพื่อให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความภูมิใจของคนในท้องถิ่น การพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ
วัตถุประสงค์ของการศึกษาดูงานในครั้งนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาวิทยาเขตกาญจนบุรีให้เป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ (UniverCity) แห่งภูมิภาคตะวันตก โดยได้เชิญผู้บริหารของทุกส่วนงานเข้าร่วมการศึกษาดูงานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาทางเลือก ในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน เพื่อศึกษาแนวพระราชดำริเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และน้อมนำมาเป็นหลักในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหิดล 

วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ม.มหิดล ครองแชมป์อันดับ 1 ของประเทศไทย มหาวิทยาลัยสีเขียว 2 ปีซ้อน 



 ศาสตราจารย์นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากผลสำรวจ UI Green Metric World University Ranking 2013 ที่จัดทำโดย University of Indonesia มหาวิทยาลัยในอินโดนีเซีย (UI) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประกาศว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก เป็นอันดับที่ ๓๑ ของโลก อันดับที่ ๔ ของเอเชีย และอันดับ ๑ ของประเทศไทย จากจำนวนมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการจัดอันดับรวมทั้งสิ้นจำนวน ๓๐๑ แห่ง โดยได้คะแนนรวมที่ ๖,๓๗๐ คะแนน จากเกณฑ์การประเมิน ๖ ด้าน คือ สถานที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภค, การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, การจัดการขยะ, การใช้น้ำ, การจัดการระบบขนส่ง และ การศึกษา ซึ่งเป็นอันดับที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี ๒๐๑๒ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้เป็นอันดับที่ ๓๖ ของโลก อันดับที่ ๑๑ ของเอเชีย และอันดับ ๑ ของประเทศไทย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งมั่นที่จะเป็น Eco University และมุ่งสู่ Mahidol Sustainable University อย่างเต็มตัวในปี ๒๐๑๖ โดยนอกจากมหาวิทยาลัยจะรักษาระบบสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้ว มหาวิทยาลัยยังเล็งเห็นความสำคัญของการคงไว้ซึ่ง ความเป็นสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยยังคงไว้ซึ่งการใช้รถรางเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับการใช้จักรยานเป็นวิถีชีวิต อีกทั้ง มหาวิทยาลัยยังส่งเสริมและปลูกจิตสำนึก การคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง มีนโยบายการงดใช้โฟม นโยบายการลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจก ส่งเสริมการใช้ไฟฟ้า น้ำ น้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่
นอกจาก มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งติดอันดับการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ ๓๑ ของโลกแล้ว ยังมี สถาบันอุดมศึกษาของไทยติดอันดับด้วยอีก ๑๒ แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (อันดับที่ ๓๙) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อันดับที่ ๔๙) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อันดับที่ ๕๐) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (อันดับที่ ๕๓) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (อันดับที่ ๕๖) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อันดับที่ ๖๘) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (อันดับที่ ๗๕) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (อันดับที่ ๗๗) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (อันดับที่ ๑๙๔) มหาวิทยาลัยนเรศวร (อันดับที่ ๑๙๘) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (อันดับที่ ๒๓๔) และ มหาวิทยาลัยบูรพา (อันดับที่ ๒๖๘)