วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารประชาสังคมอุดมพัฒน์
ศูนย์การเรียนรู้มหิดล
และเปิดพระราชานุสาวรีย์
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
และทรงเปิดประติมากรรม
“จากพระเมตตา สู่ปัญญาของแผ่นดิน”




เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2554 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อาคารประชาสังคมอุดมพัฒน์ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล และเปิดพระราชานุสาวรีย์
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
และทรงเปิดประติมากรรม “จากพระเมตตา สู่ปัญญาของแผ่นดิน”





ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีโครงการปรับปรุงพื้นที่ภายในวิทยาเขตศาลายา เพื่อรองรับการเติบโตของมหาวิทยาลัย ที่จะมีนักศึกษาและบุคลากรเข้ามาศึกษาและปฏิบัติงานเป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นทุกปี โดยได้สร้างอาคารประชาสังคมอุดมพัฒน์ และอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารทั้งสองแห่ง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2554
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามอาคารใหม่ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า “อาคารประชาสังคมอุดมพัฒน์” ซึ่งมีความหมายว่า อาคารซึ่งมีความเจริญยิ่งในด้านประชากรและสังคม เป็นอาคารสูง 6 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 10,773 ตารางเมตร มีเป้าหมายเพื่อรองรับการดำเนินงานด้านการวิจัย การเรียนการสอน และการอบรมหลักสูตรระดับชาติด้านประชากรและสังคม โดยเป็นอาคารต้นแบบแห่งการเรียนรู้ด้วยตนเองทางประชากรและสังคม มีพื้นที่จัดเป็นพิพิธสาระทางประชากร เป็นศูนย์การเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคมตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน และอนาคต
อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อทดแทนอาคารโรงอาหารและอาคารกิจกรรมกลาง เดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยในด้านการเรียนรู้ กิจกรรม นันทนาการ วิชาการของนักศึกษา บุคลากร ชุมชนรอบข้าง และประชาชนทั่วไป เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 4 ชั้น และชั้นลอย 1 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 22,999.03 ตารางเมตร พื้นที่ประกอบ 15,409.63 ตารางเมตร รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 45,406.66 ตารางเมตร ภายในอาคารประกอบด้วยพื้นที่กิจกรรมต่างๆ อาทิ โถงนิทรรศการ One Stop Service สภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล สโมสรและชมรมนักศึกษาเพื่อรองรับกิจกรรมนักศึกษา ห้องประชุม Mini Theatre และ Cyber Club ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อให้นักศึกษาได้ค้นคว้าเรียนรู้ด้วยตนเอง มีสถานที่เล่นกีฬาและออกกำลังกายในร่ม MU Clinic สมาคมศิษย์เก่ามหิดล รวมทั้ง หน่วยงานของมหาวิทยาลัย ได้แก่ กองบริหารการศึกษา กองกิจการนักศึกษา ที่จะรองรับการให้บริการแก่นักศึกษา
พื้นที่สำคัญของอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล คือ ลานสมเด็จพระบิดาซึ่งเป็นสถานที่ตั้ง “พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก” ผู้ทรงมีพระราชปณิธานเพื่อการพัฒนามนุษย์ อันนำไปสู่ประโยชน์สุขแห่งมวลมนุษยชาติ เป็นหลักให้ชาวมหิดลได้สืบสานพระราชปณิธานมาอย่างต่อเนื่อง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมหิดล พื้นที่ด้านหลังเชื่อมต่อกับสวนเจ้าฟ้าซึ่งเป็นแนวพื้นที่สีเขียวเชื่อมเข้าสู่ตัวอาคารที่มีเสาสลักพระราชดำรัส ควบคู่กับการสอดแทรกค่านิยมขององค์กรมหิดลทั้ง 7 ประการ คือ M – Mastery เป็นนายแห่งตน, A – Altruism มุ่งผลเพื่อผู้อื่น, H – Harmony กลมกลืนกับสรรพสิ่ง, I – Integrity มั่นคงยิ่งในคุณธรรม, D – Determination แน่วแน่ทำ กล้าตัดสินใจ, O – Originality สร้างสรรค์สิ่งใหม่, L – Leadership ใฝ่ใจเป็นผู้นำ
กลางอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดลมีประติมากรรม “จากพระเมตตา สู่ปัญญาของแผ่นดิน” สื่อสัญลักษณ์จำลองจากดอกกันภัยมหิดล ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา มีจิตวิญญาณที่งดงามและคำนึงถึงสาธารณประโยชน์

----------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น